สนามสอบอื่นๆ ที่น้องสามารถไปสอบได้ ?

ปกติแล้ว สนามสอบเข้าม. 1 จะมีทั้งหมด 4 สนาม (สอบไม่ตรงกันเลย)

 
👉สนาม 1 ” สาธิตประสานมิตร” สอบช่วงต้น เดือน กุมภาพันธ์ ของทุกปี
 
👉สนาม 2 “สาธิตปทุมวัน” สอบช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
 
👉สนาม 3 “gifted และ ep ของรร  สพฐ.” สอบต้นเดือนมีนาคม ของทุกปี
 
👉สนาม 4 “รอบทั่วไป ของ รร.สพฐ” สอบช่วงปลายเดือนมีนาคม ของทุกปี

ซึ่งนอกจากสนามสอบสาธิตปทุมวัน และสาธิตประสานมิตรที่น้องๆ สามารถสอบได้แล้ว ยังมีอีก 2 สนามสอบที่น้องๆ ยังสามารถไปสอบได้ 1. สานามสอบห้องเรียนพิเศษ (Gifted, EP และอืนๆ) น้องๆสามารถเลือกสอบได้ตามหลักสูตรแต่ละโรงเรียนที่เปิดสอนได้เลย ซึ่งจะสอบกันคนละวันกับสาธิตปทุมวัน และสาธิตประสานมิตร รวมถึงภาคปกติค่ะ และสนามสุดท้ายที่น้องๆสามารถไปสอบได้อีกก็คือ สนามสอบห้องเรียนปกตินั่นเอง จะสอบพร้อมกันทั่วประเทศเลยค่ะ 

ห้องเรียนพิเศษ มีหลักสูตรอะไรบ้าง?

แต่ละโรงเรียนจะมีหลักสูตรห้องเรียนพิเศษไม่เหมือนกัน ยังไงน้องๆลองศึกษาเกี่ยวกับโรงเรียนที่เราอยากสอบเข้าว่าเปิดหลักสูตรอะบ้างกันดูนะคะ วันนี้จะพาดูตัวอย่างหลักสูตรห้องเรียนพิเศษที่พบเห็นกันทั่วไปกันว่าแต่ละหลักสูตร จะเน้นวิชาการทางด้านไหนกันบ้าง หรือหลักสูตรนี้เรียนเป็นยังไงไปดูกันค่ะ

1. Gifted

ห้อง Gifted เป็นห้องเรียนพิเศษของนักเรียนสาย วิทย์-คณิต ที่เน้นการเรียนคณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ ซึ่งเนื้อหาจะมีความเข้มข้น และมีเนื้อหาที่มากกว่าห้องเรียนปกติเรียนกัน  เช่นวิชาวิทยาศาสตร์นั้น จะแยกเนื้อหาออกเป็น วิชาฟิสิกส์ เคมี และชีวะวิทยา ซึ่งอาจจะมีเนื้อหาของระดับชั้น ม.ปลายรวมอยู่ด้วย และวิชาคณิตศาสตร์จะเน้นเนื้อหาที่เกินระดับชั้น และยากกว่าปกติ อาจจะมีเนื้อหาที่อยู่ในระดับชั้นที่สูงกว่าเรียนอยู่ด้วย โดยชั่วโมงเรียนของห้อง Gifted ก็จะมากกว่าห้องปกติด้วยค่ะ                ถ้าถามถึงเนื้อหาวิชาการ ตอบได้เลยว่า Gifted ของแท้ไม่ว่าจะเป็น กิฟเลข กิฟวิทย์ กิฟวิทย์คณิต เรียนแตกต่างจากห้องเรียนปกติชัดเจนแน่นอน ทั้งเนื้อหาและความยากง่าย หลายๆท่านยังบ่นเลยว่าเกินหลักสูตรไปเยอะหรือปล่าวในบางโรงเรียน ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการห้องเรียนพิเศษนั้นๆเป็นสำคัญ

2. EP

ห้อง EP ย่อมาจาก English Program เป็นห้องเรียนที่เน้นวิชาภาษาอังกฤษ โดยการเรียนการสอนจะเป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด มุ่งเน้นที่จะเสริมสร้างทักษะด้านภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียน ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนและสาระการเรียนรู้ต่างๆ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักเรียนในหลักสูตรนี้จะเรียนภาษาอังกฤษที่เข้มข้นกว่าภาคปกติ คล้ายๆ กับโรงเรียนนานาชาติ สำหรับหลักสูตร EP นอกจากจะเรียนวิชาภาษาอังกฤษมากกว่าหลักสูตรไทยปกติแล้ว ยังเรียนบางวิชาเป็นภาษาอังกฤษด้วย เช่น คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต่างกันตรงที่บางรายวิชาจะสอนเป็นภาษาไทย เช่น วิชาภาษาไทย ,วิชาพละ ,วิชานาฎศิลป์ รวมถึงวิชาสังคมบางบทที่ต้องเรียนในเรื่องของกฏหมาย (ตรงนี้อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน)

3. TEP

ย่อมาจาก Talent Education Program คือ ห้องเรียน Gifted เพียงแต่เรียกชื่อแตกต่างออกไปสำหรับบางโรงเรียน หรือ ห้องเรียนพิเศษ ส่งเสริมศักยภาพทางวิชาการ (คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ภาษาอังกฤษ) ก็เป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็คือ เสริมสร้างศักยภาพความสามารถของเด็กนักเรียนนั่นเอง การเรียนของห้องนี้ก็จะเหมือนกับทาง ห้อง Gifted คือ เน้นไปที่การเรียนวิชา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์  ซึ่งเป็นห้องเรียนพิเศษของนักเรียนสาย วิทย์-คณิต นั่นเอง

4. IEP

ห้อง IEP ย่อมาจาก Intensive English Program เป็นห้องเรียนที่เน้นการเรียนวิชา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และเรียนแบบ English Program หรือเรียนเกือบทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษ เหมือนกับการรวมกันของห้องเรียน Gifted กับ English Programเข้าด้วยกัน เพียงแต่วิชาวิทย์และคณิตศาสตร์เนื้อหาอาจไม่เข้มข้นเท่าห้อง Gifted ในรูปแบบภาษาอังกฤษแบบเข้มข้นเหมือนกับ EP (สัดส่วนประมาณ 20 %) แต่เนื้อหาและความยากอาจจะไม่เข้มข้นเท่า EP และ ส่วนที่เหลือจะเป็นการเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย

5. GATE

ห้อง GATE ย่อมาจาก Gifted and Talent Education Program หรือ โครงการการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ โดยห้องเรียน GATE จะเรียนคล้ายกับ ห้องเรียน Gifted และ TEP แต่จะมีความแตกต่างกันออกไป ตรงที่ความเข้มข้นของเนื้อหาบางวิชา จุดมุ่งหมายก็คือ  เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

6. SMA

ห้อง SMA ย่อมาจาก Science Math Ability หรือ โครงการพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ห้องเรียนนี้เป็นหลักสูตรคล้ายกับ Gifted, TEP และ GATE ของนักเรียนสาย วิทย์-คณิต นั่นเอง โครงการส่งเสริมความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมนักเรียนให้พัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสนับสนุนให้ นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน

7. SME

ห้อง SME ย่อมาจาก Science Math English ห้องเรียนนี้จะเน้น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แต่จะเพิ่มวิชาภาษาอังกฤษด้วย การเรียนห้องเรียนนี้จะคล้ายกับห้อง Gifted แต่จะเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาภาษาอังกฤษด้วย การจัดการศึกษาห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นโครงการหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ  ได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ

8. MEP

ห้อง MEP ย่อมาจาก Mini English Program เป็นห้องเรียนที่เน้นการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษเหมือนกับห้อง English Program เพียงแต่ความเข้มข้นจะน้อยกว่า เป็นหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เหมือนกับ EP แต่แตกต่างกันที่จะมีรายวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษไม่ถึง 50 % และมีวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาไทย และสังคมที่ไม่ได้เรียนเป็นภาษาอังกฤษ MEP จึงเป็นหลักสูตรที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า EP

9. ESC                                                                                                 

ย่อมาจาก Enrichment Science Classroom หรือที่เรียกกันเป็นภาษาไทยว่า “ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม” จะเป็นห้องเรียนตามแนวทางของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) โดยนักเรียนห้องเรียนพิเศษ ESC จะได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และนานาชาติ ตามศักยภาพของผู้เรียน

10. EIS

ย่อมาจาก English for Integrated Study เป็นห้องเรียนที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์โดยใช้หนังสือเรียนภาษาอังกฤษ แต่ทำการสอนโดยครูไทย การเรียนการสอนโดยการบูรณาการใช้ภาษาอังกฤษจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใน 4 สาระวิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษ โดยนำหลักวิธีเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และนำภาษาอังกฤษที่ง่าย สั้นและคุ้นเคย มาประยุกต์ในกระบวนการเรียนการสอน

การแบ่งประเภทโรงเรียน

ก่อนที่เราจะสอบเข้าโรงเรียนนั้นๆ เรามาดูกันดีกว่าว่าโรงเรียนที่เราจะสอบนั้น อยู่ในโรงเรียนประเภทไหน ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1. โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง คือ โรงเรียนที่มีจำนวนผู้เข้ารับการคัดเลือก มากกว่า จำนวนนักเรียนที่สามารถรับได้ ตามแผนการรับนักเรียนย้อนหลัง 2 ปีต่อเนื่อง

2. โรงเรียนทั่วไป คือ โรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง

โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงย่อมเป็นเป้าหมายที่ต้องการของน้องๆและคุณพ่อพ่อคุณแม่หลายๆคน การจะเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงนั้นจะต้องมีการวางแผน เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สนามแข่งเป็นอย่างดี ฝีไม้ลายมือของนักรบที่เก่งกาจเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้ชัยชนะในการศึกครั้งนี้ การวางแผนกลยุทธ์ที่ดีก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอีกด้วย

การเป็นเด็กในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนถือเป็นแต้มต่อในการสอบเข้าเลยทีเดียว เนื่องจาก สพฐ. กำหนดอัตราส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ต่อ นักเรียนทั่วไป คือ 60 : 40 ทำให้นักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการมีโอกาสในการสอบเข้าได้มากกว่านักเรียนทั่วไป

การแบ่งประเภทนักเรียน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แบ่งนักเรียนเป็น 4 ประเภท คือ

1.นักเรียนในเขตพื้นที่บริการ คือ นักเรียนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน อย่างน้อย 2 ปี นับถึงช่วงเดือนพฤษภาคม (ปีที่ผ่านมานับถึง 16 พฤษภาคม 2562)  และต้องอาศัยอยู่กับบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เป็นเจ้าบ้านหรือเจ้าของบ้าน (ผู้ปกครองควรโทรสอบถามกับทางโรงเรียน เพื่อตรวจสอบว่าที่อยู่ของน้องอยู่ในเขตพื้นที่บริการหรือไม่)

2.นักเรียนทั่วไป คือ นักเรียนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่บริการ หรือนอกเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน

3.นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ

4.นักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ ดังนี้

  • นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน
  • นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส
  • นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ
  • นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน

 การที่ได้รู้ว่าน้องๆเป็นนักเรียนประเภทใดจะทำให้ผู้ปกครองสามารถวางแผนเตรียมความพร้อมได้ถูกต้อง ถ้าเป็นนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ หรือมีเงื่อนไขพิเศษ การรับนักเรียนจะขึ้นอยู่กับเกณฑ์การพิจารณารับนักเรียนของคณะกรรมการรับนักเรียนระดับโรงเรียน โดยแต่ละโรงเรียนอาจจะมีแผนการรับนักเรียนกลุ่มนี้แตกต่างกันไป  

แต่ในกรณีที่เป็นนักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา หรือนักเรียนทั่วไป เกณฑ์ในการรับสมัครจะค่อนข้างแน่นอน โดยทั่วไปจะกำหนดให้อัตราส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา ต่อ นักเรียนทั่วไป คือ 60:40 และการคัดเลือกจะใช้คะแนนสอบ 5 วิชาหลักของโรงเรียน 70% รวมกับคะแนน ONET 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อีก 30% 

ศธ.ประกาศ ยกเลิกการใช้ผล O-NET ในการตัดสินผลการเรียน และไม่ต้องนำไปกรอกใน ปพ.1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

 ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ยกเลิกการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป
 

 ประกาศ ณ ในวันที่ 15 กันยายน 264 โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสรุป คือ ยกเลิกสัดส่วนคะแนน O-NET ไปใช้ในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาฯ และไม่ต้องนำผลการสอบ O-NET ไปกรอกในแบบ ปพ.1 ของนักเรียน ชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6

ที่มา : Wisanu Sapsombat ผอ.สทศ. สพฐ.ศธ.

เรามาดูน้องๆคนเก่งที่เรียนกับสถาบันกันดีกว่าค่ะ

– น้องๆสอบติดที่ไหนกันบ้าง –

เว็บไซต์ bigbrain ใช้เทคโนโลยี cookie เพื่อใช้จดจำการเข้าสู่ระบบของท่าน และเพื่อเสนอข้อมูลที่ท่านต้องการ กรุณากดปุ่ม "ยอมรับ" เพื่อยอมรับการใช้ cookie